รู้จัก PromptPay บริการโอนเงินแบบใหม่

ถ้าพูดถึงเรื่องการโอนเงินในช่วงนี้ใครๆ ต่างก็พูดถึงเรื่องของ PromptPay เรียกว่าเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ เรื่องหนึ่งก็ว่าได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ และที่สำคัญเพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างถูกต้องเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ เราไปทำความรู้จักเกี่ยวกับบริการนี้กันสักหน่อย

PromptPay คืออะไร

PromptPay เป็นบริการที่เกิดขึ้นหรือต่อยอดมาจากเรื่องของการ Any ID หรือการเปลี่ยนไปใช้บัตรประชาชนแบบชิพหรือสมาร์ทการ์ด แต่ด้วยแนวคิดของรัฐบาลที่มีความตั้งใจที่จะส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ Digital Economy มาก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงการคลังจึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อโครงการ Any ID เสียใหม่ เป็น PromptPay พร้อมกับผลักดันเป็นระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ National e-Payment

เหตุผลที่มีการเปลี่ยนแนวคิดของโครงการและผลักดันให้เป็น National e-Payment ก็คือ…

– เพื่อให้การโอนเงินมีความสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องจดจำเลขบัญชีธนาคารให้ยุ่งยาก แต่เปลี่ยนมาใช้การโอนผ่านเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ซึ่งใช้กันอยู่แล้วในชีวิตประจำวันแทน

– เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการโอนเงินต่างธนาคาร ค่าบริการในการโอนยังคงมีอยู่ แต่จะถูกลงอย่างมาก

– เพื่อสนับสนุนนโยบาย Digital Economy ซึ่งการที่ผู้คนสามารถโอนเงินได้สะดวกขึ้น ย่อมช่วยกระตุ้นการจับจ่ายให้ความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น

– เพื่อความปลอดภัย เมื่อการโอนเงินหรือชำระค่าสินค้าทำได้ง่ายขึ้น ผู้คนจะได้ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมากติดตัวหรือใช้เงินสดในการซื้อ-ขายสินค้า

– เพื่อความสะดวกในการรับเงินจากภาครัฐ เช่น เงินคืนภาษี จะเปลี่ยนจากการจ่ายผ่านเช็คเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนให้เลย หรือเงินสวัสดิการต่างๆ ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรับเหมือนที่ผ่านมา

PromptPay เริ่มใช้เมื่อไร

ตอนนี้ PromptPay เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2016 ที่ผ่านมา หากใครกดเงินจากตู้ ATM ก็จะเห็นว่าตู้ ATM ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เปิดให้บริการลงทะเบียน PromptPay ซึ่งก็คือการผูกบัญชีธนาคารกับเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ได้แล้ว

การผูกบัญชีธนาคารเพื่อใช้ในการโอนหรือรับเงินนั้นมีเงื่อนไขคือ…

– 1 บัญชีธนาคาร ต่อ เลขบัตรประชาชน และ 1 เบอร์โทรศัพท์

– 1 บัญชีธนาคาร ต่อ เลขบัตรประชาชน

– 1 บัญชีธนาคาร ต่อ 1 เบอร์โทรศัพท์

– 1 บัญชีธนาคาร ต่อ 3 เบอร์โทรศัพท์

PromptPay เป็นบริการภาคสมัครใจ ในเบื้องต้นจะเปิดให้ใช้งานในส่วนของภาคประชาชนหรือบุคคลทั่วไปก่อน จากนั้นจะเริ่มให้บริการในส่วนของนิติบุคคลหรือภาคธุรกิจ และจะดำเนินการในส่วนของภาครัฐต่อไป

และการใช้บริการ PromptPay สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลหรือการผูกบัญชีได้ตลอดเวลาอย่างอิสระ โดยภาครัฐเน้นว่าการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต้องทำได้ง่ายตามที่ผู้ใช้หรือประชาชนต้องการโดยไม่มีเงื่อนไข

จะสมัครใช้ PromptPay ได้ที่ไหน

– สมัครผ่านตู้ ATM

– สมัครผ่าน Inter Banking

– สมัครผ่าน Mobile Banking

– สมัครผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร

Fiber Optic Internet บางสิ่งที่ควรรู้ก่อนใช้

กำลังแพร่หลายเข้าสู่การใช้งานตามบ้านเรือนมากขึ้นสำหรับอินเทอร์เน็ตแบบ Fiber Optic ทางฝ่ายผู้ใช้งานต่างก็มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ฝ่ายผู้ให้บริการก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน น่าจะมีบริการอินเทอร์เน็ต Fiber Optic แล้วทุกค่าย พร้อมๆ กับทางเลือกของแพ็กเกจและราคาซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก

แต่ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านจากระบบแบบเดิมที่ใช้งานกันมาเป็นเวลานานไปสู่ระบบใหม่ มีบางสิ่งบางอย่างที่ควรรู้และทำความเข้าใจสักหน่อยเพื่อไม่ให้มีปัญหาหรือความไม่สะดวกเกิดขึ้นระหว่างการใช้งาน

– Fiber Optic Internet คืออะไร ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับอินเทอร์เน็ตแบบไฟเบอร์กันสักเล็กน้อย Fiber Optic เป็นอินเทอร์เน็ตที่ส่งสัญญาณผ่านสายที่เป็นใยแก้ว ซึ่งตามหลักการแล้วการเดินทางของแสงผ่านใยแก้วจะมีความเร็วที่สูงมาก และเมื่อเปรียบเทียบกับการส่งสัญญาณแบบอื่นๆ หรืออินเทอร์เน็ตแบบเดิมที่ใช้กันอยู่อย่าง ADSL ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณผ่านสายโทรศัพท์ Fiber Optic จึงย่อมมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า

– สายและอุปกรณ์ภายในไม่เหมือนเดิม เมื่อเป็นคนละระบบกัน ทำให้รูปแบบของสายสัญญาณตลอดจนอุปกรณ์การติดตั้งสายสัญญาณภายใน (บ้าน) แตกต่างไปจากเดิมด้วย หากมองเพียงผิวเผินอาจจะดูเหมือนว่าคล้ายๆ กัน แต่จริงๆ แล้วไม่เหมือนกันและใช้ด้วยกันไม่ได้ ยกเว้นสาย LAN ที่ต่อจากโมเด็มไปยังอุปกรณ์ต่างๆ หรือคอมพิวเตอร์

– โมเด็มคนละระบบ การใช้งานอินเทอร์เน็ต ADSL ผู้ให้บริการมักจะมีโมเด็มแถมมาให้ด้วย แต่หลายคนที่รู้สึกว่าโมเด็มของผู้ให้บริการไม่มีประาสิทธิภาพ ก็มักจะซื้อหาโมเด็มที่ดีกว่ามาใช้เอง แต่สำหรับ Fiber Optic ไม่สามารถที่จะซื้อหาโมเด็มมาเปลี่ยนเองได้ นอกจากโมเด็มส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะเป็นคนละระบบกันแล้ว ทางผู้ให้บริการได้มีการล็อกระบบเอาไว้ด้วย ทำให้สามารถใช้โมเด็มได้เฉพาะรุ่นหรือเครื่องที่ติดตั้งไว้ให้เท่านั้น

– การใช้งานเน็ตเวิร์ก ผู้ใช้งานทั่วไปอาจไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้สักเท่าไร แต่หากบ้านใดหรือในสำนักงานเล็กๆ ที่จะต้องมีการใช้งานในเรื่องของเซิร์ฟเวอร์หรืออื่นๆ เกี่ยวกับเน็ตเวิร์กอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการตั้งค่า IP หรืออื่นๆ ที่จะต้องทำการเชื่อมต่อกับระบบหรือการเข้าถึงช่องสัญญาณของอินเทอร์เน็ต ดังนั้นก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบไฟเบอร์ควรตรวจสอบข้อมูลทางด้านนี้ให้ดีเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้การทำงานเกิดการสะดุดขึ้นได้

WD My Cloud ทางเลือกที่น่าสนใจของการสร้าง Private Cloud

บทความโดย : กิตติ ภูวนิธิธนา

ในยุคที่แวดล้อมไปด้วยไฟล์ข้อมูลที่ถูกบันทึกอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ้ก สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต การซิงค์เพื่อจัดเก็บข้อมูลไว้ที่หน่วยความจำหรือ External Harddisk แบบไร้สายจึงได้รับความสนใจและเริ่มเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เนื่องจากช่วยให้การซิงค์ข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ มีความสะดวกมากขึ้น และเป็นศูนย์รวมที่ช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลมีความเป็นระเบียบ ง่ายต่อการบริหารจัดการข้อมูล

External Harddisk แบบไร้สายมีให้เลือกหลายรูปแบบ เช่น…

– External Harddisk ที่เน้นการพกพาและสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ได้ผ่าน Wi-Fi Direct

– External Harddisk ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งานภายในบ้านหรือสำนักงาน

– External Harddisk ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและใช้งานได้แบบ Cloud Storage

External Harddisk ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและใช้งานได้แบบ Cloud Storage จะต่างจาก External Harddisk ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งานภายในบ้านหรือสำนักงาน ตรงที่สามารถที่จะเข้าถึงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลได้จากทุกที่ (Anywhere) ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เหมือนกับการใช้งาน Dropbox หรือ Google Drive แต่มีความเป็นส่วนตัวหรือเรียกว่า Private Cloud

External Harddisk ที่ใช้งานแบบ Cloud ได้มีหลายยี่ห้อหลายรุ่น เช่น Seagate Personal Cloud หรือ WD My Cloud

ในส่วนของ WD My Cloud เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ มีให้เลือกหลายรุ่น สามารถตั้งค่าและเริ่มต้นใช้งานได้ไม่ยาก

– WD My Cloud เป็นรุ่นเริ่มต้น ไม่สามารถถอดเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ได้ มีความจุให้เลือกคือ 2TB, 3TB, 4TB และ 6TB เหมาะสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป

– WD My Cloud Mirror มีความจุให้เลือกคือ 6TB

– WD My Cloud EX2 เป็นรุ่นที่รองรับฮาร์ดดิสก์ได้ 2 Bay รองรับการใช้งาน NAS เต็มรูปแบบ

– WD My Cloud EX4 เป็นรุ่นท็อปของ My Cloud รองรับฮาร์ดดิสก์ได้ 4 Bay เหมาะสำหรับสำนักงานขนาดเล็กที่ต้องการ NAS เพื่อใช้จัดเก็บข้อมูลของบริษัท

รุ่น My Cloud และ My Cloud Mirror เหมาะสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปที่ต้องการเพียงแค่พื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้จากทุกที่ และใช้งานได้ง่ายๆ ผ่านเบราเซอร์หรือแอปพลิเคชัน ส่วน My Cloud EX2 และ EX4 เป็นรุ่นที่พร้อมใช้งาน NAS แบบเต็มรูปแบบ

branded.me โซเชียลมาใหม่ ใครสนใจลองเลย

บทความโดย : กิตติ ภูวนิธิธนา

แม้ว่าขณะนี้โซเชียลมีเดียหรือสังคมออนไลน์ที่มีอยู่เดิมจะยังคงแข็งแกร่งและมีฐานผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีการพัฒนาโซเชียลมีเดียใหม่ๆ ออกมาเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้งานอยู่เนืองๆ

ถ้ามองเฉพาะในบ้านเราอาจจะดูเหมือนว่าโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมและมีผู้ใช้งานจริงๆ นั้นมีไม่กี่เจ้า เรียกว่าผูกขาดกันเลยทีเดียว แต่ในต่างประเทศเรื่องการใช้งานโซเชียลมีเดียค่อนข้างมีความหลากหลาย เช่น LinkedIn เป็นโซเชียลมีเดียที่มีจุดเด่นเกี่ยวกับการเป็นเครือข่ายของการแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงาน ในต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งในขณะนี้ก็มีคนไทยเป็นสมาชิกอยู่ไม่น้อย

ล่าสุดมีโซเชียลมีเดียในลักษะเดียวกับ LinkedIn เปิดตัวขึ้นมาเป็นทางเลือกอีกแห่งหนึ่งแล้ว ถ้าใครชอบลองอะไรใหม่ๆ ก็เตรียมตัวทดลองใช้ได้เลย เผื่อว่าต่อไปเกิดฮิตขึ้นมาจะได้เป็นคนหนึ่งที่นำเทรนด์

ผมเองมีโอกาสได้รู้จักโซเชียลมีเดียที่ว่านี้เพราะมีคนส่ง Invite มาให้ แรกๆ ที่มีคนส่งมาก็เฉยๆ จนมีคนส่งมา 2 คน 3 คน และหลายคนเข้าก็เลยต้องลองเสียหน่อย

โซเชียลมีเดียที่ว่าคือ branded.me จากที่ได้ทำความรู้จักว่าโซเชียลมีเดียแห่งนี้ผู้พัฒนาเขามีวัตถุประสงค์อะไร ก็ได้ความว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการนำเสนอโพรไฟล์ในลักษณะของเรซูเมออนไลน์

ดูจากเป้าประสงค์ของโซเชียลมีเดียแห่งนี้ก็จะคล้ายๆ กับ LinkedIn แต่รูปแบบการใช้งานจะแตกต่างออกไป ดูไม่เป็นทางการมากนัก เรียกว่าเรื่องของรูปแบบ กราฟิกหรือ UI และเครื่องไม้เครื่องมือจะออกแนวไลฟ์สไตล์ประมาณนั้น

กิจกรรมที่มีให้ทำหรือใช้งานก็จะมีการสร้างโพรไฟล์หรือเรซูเมของสมาชิก ก็จะมีเครื่องมือคล้ายๆ กับการสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปยังไงยังงั้น มีเทมเพลตให้เลือก ปรับแต่งสีได้ และใส่รายละเอียดหรือข้อมูลได้อย่างเต็มที่

มีส่วนของการเขียนเรื่องราวเรียกว่า Write คล้ายๆ กับ Publish a Post ของ LinkedIn หรือ Note ของ Facebook เมื่อเขียนและแชร์แล้ว รูปแบบการแชร์จะคล้ายๆ กับหน้าการใช้งานของ Twitter ก็เรียกว่าผสมผสานกันไป และมีส่วนของ Connect ในการเชื่อมต่อหรือการ Follow สมาชิกคนอื่นๆ

ถ้าไปสมัครใช้งานตอนนี้อาจจะเหงาๆ อารมณ์เหมือนตอนที่สมัคร LinkedIn แรกๆ มีแต่สมาชิกที่เป็นชาวต่างชาติ แต่ถ้าคิดว่าเปลี่ยนบรรยากาศ ไปหาเพื่อนใหม่ๆ และทดลองอะไรใหม่ๆ บ้าง ก็น่าสนใจ

เปรียบเทียบ 3 ตัวเลือกในการจัดเก็บและแบ็กอัพไฟล์ข้อมูลแบบไร้สาย

บทความโดย : กิตติ ภูวนิธิธนา

เมื่อพูดถึงการจัดเก็บไฟล์ข้อมูลสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญและหลายคนโดยเฉพาะคนทำงานนิยมที่จะมองหามาใช้งานด้วยวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ เพื่อจัดเก็บไฟล์ข้อมูลได้อย่างเพียงพอและเพื่อการสำรองข้อมูล อุปกรณ์ที่จะตอบโจทย์การใช้งานดังกล่าวก็คือ External Harddisk

External Harddisk ไม่ใช่อุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่อะไร แต่ในยุคที่อินเทอร์เน็ตมีความสะดวกและรวดเร็วทำให้ความสนใจและความต้องการ External Harddisk ประเภทไร้สายหรือ Wireless มีเพิ่มมากขึ้น เพราะมีความสะดวกและคล่องตัว ในครั้งนี้จึงอยากจะเขียนถึงอุปกรณ์ดังกล่าวนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ที่กำลังมองหาพื้นที่จัดเก็บข้อมูลมาใช้งาน โดยจะเปรียบเทียบอุปกรณ์ให้ดูกัน 3 ตัวนั่นก็คือ NAS, WD My Passport Wireless และ Airport Time Capsule

อุปกรณ์ทั้ง 3 ตัวที่กล่าวมา เชื่อว่าอย่างน้อยจะต้องมีรายการหนึ่งรายการใดหรือมากกว่าหนึ่งรายการที่กำลังเป็นตัวเลือกของคนที่กำลังมองหาอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบไร้สาย ลองไปทำความรู้จักกับอุปกรณ์แต่ละตัวกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีความน่าสนใจอย่างไร

– WD My Passport Wireless ขอเริ่มที่อุปกรณ์ตัวนี้เลยแล้วกัน น่าจะอยู่ในความสนใจของใครหลายๆ คนมากกว่าอุปกรณ์อีก 2 ตัว WD My Passport Wireless เป็น External Harddisk แบบไร้สายที่มีความคล่องตัวในการใช้งานมากที่สุด เพราะสามารถพกพาไปใช้งานนอกสถานที่ได้ด้วย โดยรองรับการเชื่อมต่อหรือแชร์ไฟล์ทั้งการเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi และยังสามารถนำ SD Card มาเสียบได้โดยตรง มีความจุให้เลือก 2 ความจุคือ 1TB และ 2TB

– Airport Time Capsule เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบไร้สายของ Apple นอกจากเป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแล้วยังทำหน้าที่เป็นตัวกระจายสัญญาณ Wi-Fi ในตัวอีกด้วย เหมาะสำหรับคนใช้คอมพิวเตอร์ของ Apple อย่าง iMac หรือ Macbook มีความจุให้เลือกคือ 2TB และ 3TB

– NAS หรือ Network Attached Storage เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่สามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงข้อมูลได้แบบไร้สาย แต่มีความพิเศษกว่าอุปกรณ์ทั้ง 2 ตัวที่กล่าวมาคือ สามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงไฟล์จากที่ไหนก็ได้ผ่านระบบเน็ตเวิร์กหรือเป็นเสมือน Private Cloud ที่ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็สามารถโยนไฟล์ไปจัดเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนั้น NAS ยังมีความสามารถอีกหลายอย่างเสมือนเป็นเซิร์ฟเวอร์ย่อมๆ และมีขนาดกับความจุดหรือพื้นที่หน่วยความจำให้เลือกหลายระดับ

โดยสรุป หากต้องการ External Harddisk ไร้สายที่พกพาได้ คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ WD My Passport Wireless แต่ถ้าเน้นการใช้งานภายในบ้านหรือออฟฟิศขนาดเล็ก ได้ประโยชน์เรื่องการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตด้วย และโดยเฉพาะเน้นความเสถียรในการใช้งานร่วมกับ Mac คำตอบก็คงอยู่ที่ Airport Time Capsule แต่ถ้าต้องการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในอีกระดับหนึ่ง สามารถบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น และที่สำคัญสามารถใช้งานได้แบบ Private Cloud ก็คงต้องเลือก NAS

GrandPerspective เช็คพื้นที่ Mac หมดไปกับอะไรเท่าไรบ้าง

ใครที่ใช้คอมพิวเตอร์ Mac โดยเฉพาะ Macbook รุ่นใหม่ๆ ที่ใช้ฮาร์ดดิสก์แบบ Flash Storage ซึ่งมีความจุอยู่ที่ 128 หรือ 256 กิกะไบต์ จะบันทึกจะเก็บอะไรค่อนข้างจะจำกัดจำเขี่ย บันทึกอะไรไม่ดูให้ดีเผลอแป๊บเดียวก็เต็มเสียแล้ว

หากใครใช้ Mac แล้วกำลังประสบปัญหาเรื่องพื้นที่จัดเก็บข้อมูล และต้องคอยนั่งลบไฟล์ที่ไม่ได้ใช้อยู่บ่อยๆ เพื่อหาพื้นที่ว่างให้กับงานใหม่ที่ต้องทำ ลองดาวน์โหลดโปรแกรมตัวนี้มาใช้กันดู GrandPerspective

GrandPerspective เป็นโปรแกรมที่ดาวน์โหลดได้ฟรี มีคุณสมบัติที่ช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของพื้นที่ของฮาร์ดดิสก์ที่ถูกใช้งานทั้งหมดได้ว่า พื้นที่ถูกใช้ในการบันทึกอะไรไว้บ้าง ข้อมูลใดใช้พื้นที่ไปเท่าไร โดยในเบื้องต้นจะมีการแสดงพื้นที่ที่ถูกใช้งานในรูปของกราฟิกที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมในโทนสีและขนาดที่แตกต่างกันไปตามประเภทข้อมูลและปริมาณการใช้พื้นที่ในฮาร์ดดิสก์

ข้อมูลส่วนใดที่ใช้พื้นที่มากก็จะมีขนาดของกราฟิกรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เมื่อนำเมาส์ไปชี้ที่ช่องสี่เหลี่ยมใดๆ ก็จะแสดงข้อมูลให้เห็นที่ด้านล่างของหน้าต่างว่าเป็นข้อมูลอะไรและใช้พื้นที่ไปเท่าไร จัดเก็บอยู่ตรงไหน

เป็นโปรมแกรมที่ช่วยให้เราสามารถตามไปลบหรือเคลียร์ข้อมูลได้ง่ายๆ ไม่ต้องมานั่งงมหาเอาเองแบบไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร บางทีรีบๆ ลบอะไรได้ก็ลบไปก่อน แล้วก็มานั่งเสียดายทีหลัง ถ้าหากมี GrandPerspective จะได้จัดการกับพื้นที่ฮษร์ดดิสก์และข้อมูลได้เป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น

ลบ URL ออกจาก Google Search

บทความโดย : กิตติ ภูวนิธิธนา

สิ่งที่ผมกำลังจะเขียนถึงต่อไปนี้อาจไม่ได้เป็นที่ต้องการของใครหลายๆ คนสักเท่าไร อาจจะเป็นการแนะนำวิธีการที่สวนทางกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ แต่ถ้าใครกำลังหาวิธีการที่ว่านี้อยู่ก็ลองทำตามนี้ได้เลย

วิธีการที่ว่าก็คือ การลบ URL ออกจากการแสดงผลใน Google Search นี่ไงล่ะที่ผมบอกว่าบทความนี้อาจไม่อยู่ในความต้องการของหลายๆ คน เพราะส่วนใหญ่มีแต่คนอยากจะทำให้ URL ของบทความตัวเองมาปรากฏอยู่บนหน้าการค้นหาของ Google Search และกว่าที่จะขึ้นมาแสดงผลแต่ละหน้าๆ ได้ สุดจะลำบากยากเย็น นี่มาแนะนำให้ลบออกเสียนี่

แต่การลบ URL ที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงบทความที่ติดอันดับการค้นหาใน Google แล้ว เป็นบทความที่มีการลบออกจากเว็บไซต์แล้วจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ข้อมูลล้าสมัย มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ยกเลิกสินค้าและบริการดังกล่าวไปแล้ว หรืออีกกรณีที่เคยพบคือ มีการฟ้องร้องของผู้ประกอบการธุรกิจต่อกรณีของการรีวิวที่เป็นผลเชิงลบต่อสินค้าหรือบริการเกิดขึ้น ทำให้เว็บไซต์จำเป็นต้องลบบทความออก แต่ปรากฏว่ายังมีการแสดงผลตกค้างอยู่ในการค้นหาของ Google เรียกว่าการลบข้อมูลยังไม่เคลียร์ มีข้อมูลบางส่วนที่ยังถูกเผยแพร่อยู่ก็คือการแสดงผลใน Google Search จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการลบออกนั่นเอง

สำหรับวิธีการลบ URL ออกจาก Google Search ทำได้ดังนี้

– เข้าไปที่ https://goo.gl/zKT4em

– คลิกเลือกที่ นำข้อมูลที่คุณเห็นใน Google Search ออก

– คลิกเลือกที่ เฉพาะในผลการค้นหาของ Google

– คลิกข้อ 1. ไปที่หน้านำเนื้อหาที่ล้าสมัยออก

– กรอก URL ที่ต้องการให้ Google นำออก

จากนั้นรอประมาณ 3-4 วัน ถ้า Google นำ URL ออกแล้ว เมื่อกลับไปเช็คที่หน้าการร้องขอลบ URL ก็จะเห็นว่าสถานะคำร้องจะเปลี่ยนจาก Pending เป็น Removed

แปลงไฟล์ PDF เป็นไฟล์เอกสารอื่นๆ ไม่ยาก

PDF ถือเป็นไฟล์เอกสารสำคัญเพราะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับส่งและสื่อสารระหว่างผู้ทำงาน 2 ฝ่ายได้เป็นอย่างดี เช่น การรับส่งไฟล์ระหว่างอาร์ตผู้ออกแบบงานหนังสือกับบรรณาธิการ ในขณะที่อาร์ตซึ่งออกแบบจัดหน้าด้วยโปรแกรม Indesign ครั้นจะส่งไฟล์เป็น Indesign ให้ บก. ตรวจอาจจะมีปัญหาได้

บางครั้ง บก. อาจจะไม่ได้ใช้โปรแกรม Indesign หรือหากมีโปรแกรม Indesign อยู่ในเครื่องก็อาจจะมีปัญหาในการเปิดไฟล์ได้ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันที่แตกต่างกันหรือมีปัญหาเรื่องของฟอนต์ที่ไม่รองรับ เป็นต้น ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือ การที่อาร์ตแปลงไฟล์เป็น PDF ก่อนแล้วส่งงานให้ บก. ตรวจงาน

นอกจากนั้นไฟล์ PDF ยังสามารถทำงานโน้ตหรือคอมเมนต์ลงในไฟล์ได้ เรียกว่าเป็นโปรแกรมที่อเนกประสงค์ดีทีเดียว แต่ก็จะมีงานบางลักษณะหรือสำหรับบางคนที่ต้องการข้อมูลหรือข้อความในไฟล์ PDF ไปใช้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ต้องการนำข้อมูลหรือเนื้อหาในไฟล์ PDF ไปใช้ในไฟล์ Word เพื่อทำการแก้ไขหรือนำไปใช้งานอื่นๆ ตามที่ต้องการ

สำหรับข้อมูลที่ไม่มากนักเช่นประมาณ 1-2 หน้า การที่จะนั่งพิมพ์ข้อมูลใหม่อาจจะไม่ใช่ปัญหานัก แต่สำหรับข้อมูลจำนวนมากหลายสิบหน้าคงต้องใช้เวลามากทีเดียว

หากใครที่กำลังมองหาวิธีการแปลงไฟล์ PDF เป็นไฟล์เอกสารอื่นๆ เช่น Word หรือ Excel มีวิธีการง่ายๆ และเป็นวิธีที่สามารถทำได้ฟรีๆ อีกด้วย โดยการแปลงไฟล์ผ่านเว็บไซต์ที่ให้บริการทางด้านนี้ เว็บไซต์หนึ่งที่นำมาแนะนำกันคือ smallpdf.com

การใช้งานไม่ยากเลย เพียงเข้าไปที่เว็บไซต์ตามิลิงก์ด้านบน และไม่ต้องลงทะเบียนก็สามารถที่จะใช้งานได้ เมื่อเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาให้เลือกว่าต้องการแปลงไฟล์จากไฟล์ประเภทใดเป็นไฟล์ประเภทใด > เลือกไฟล์ที่ต้องการแปลง แล้วรอการประมวลผลสักครู่ เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อยแล้ว

Cloud Computing เลือกใช้อย่างไรให้เหมาะกับงานและงบประมาณ

บทความโดย : กิตติ ภูวนิธิธนา

เทคโนโลยี Cloud Computing ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว แต่กำลังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและใกล้ชิดเรามากขึ้นทุกวัน ไว่ว่าจะเป็นบุคคลหรือว่าองค์กร เนื่องจาก Cloud Computing มีข้อดีหลายประการและในขณะเดียวกันเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตก็มีศักยภาพมากขึ้นด้วย

Cloud Computing คืออะไร

Cloud Computing ก็คือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยประมวลผลและฮาร์ดดิสก์ตลอดจนซอฟต์แวร์เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันทั่วไป แต่สิ่งต่างกันคือ Cloud Computing เป็นระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เรียกว่าอภิมหาคอมพิวเตอร์ก็คงจะได้ เพราะต้องรองรับการใช้งานของผู้คนจำนวนมาก และไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่จะหน่ายให้ใช้งานเป็นเครื่องๆ แล้วยกไปใช้งานที่บ้านหรือสำนักงาน แต่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่ในศูนย์คอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ในการใช้งานผู้ใช้สามารถใช้พื้นที่เก็บข้อมูลหรือ Cloud Storage หรือซอฟต์แวร์ต่างๆ Software as a Service ได้โดยการเชื่อมต่อกับระบบผ่านอินเทอร์เน็ต

จะว่าไปแล้วไม่เพียงการใช้งานสำหรับองค์กรเท่านั้น การใช้งานส่วนบุคคลทั่วๆ ไป Cloud Computing ก็มีความสำคัญและในขณะนี้ก็มีบทบาทในชีวิตของใครหลายๆ คนแล้วไม่น้อยก็มาก แต่บางคนอาจจะไม่รู้ตัว Cloud Computing ที่อยู่รอบๆ ตัวเราในการใช้งานทั่วๆ ไป ก็เช่น Google Drive หรือ Dropbox ถือว่าเป็น Cloud Computing ประเภท IaaS หรือ Infrastructure as a Service ซึ่งอยู่ในส่วนการให้บริการเกี่ยวกับโครงสร้างของระบบคอมพิวเตอร์ เช่น พื้นที่จัดเก็บข้อมูลของ Cloud Computing นั่นเอง ในส่วนของซอฟต์แวร์ก็มีไม่น้อยที่เราใช้งานกันอยู่ เช่น Google Doc หรือ Google Sheet เป็นต้น ถ้าบอกว่าพวกการใช้งานเอกสารออนไลน์ต่างๆ ที่ไม่ต้องลงโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์หลายคนอาจจะร้อง อ้อ เพราะคุ้นเคยมากกว่า

ตัวอย่างการใช้งาน Cloud Computing ที่กล่าวมานั้นถือว่าเป็นการใช้งาน Cloud Computing ในลักษณะของ Public Cloud ซึ่งมีข้อดีคือ ใช้งานง่าย สะดวก มีการใช้งานแพร่หลาย และหลายๆ บริการก็ให้ใช้งานได้ ฟรี!

ก่อนที่จะเขียนถึง Cloud Computing อื่นๆ ขอสรุปภาพรวมให้เข้าใจก่อนว่า Cloud Computing มี 3 รูปแบบคือ…

– Public Cloud ตามที่ได้อธิบายไปแล้วว่ามีข้อดีหลายประการ แต่มีข้อเสียที่สำคัญโดยเฉพาะการใช้งานสำหรับองค์กรคือ เรื่องความปลอดภัย

– Private Cloud ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าส่วนตัว มีความปลอดภัยมากกว่า มีความยืดหยุ่นเพราะตั้งค่าการใช้งานได้เองตามที่ต้องการ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

– Hybrid Cloud ไม่ใช่รูปแบบของ Cloud Computing ทางกายภาพ แต่เป็นการประยุกต์ใช้งาน เป็นแนวทางการใช้งานสำหรับองค์กรขนาดเล็กที่มีงบประมาณในส่วนนี้ไม่มากนัก

ถ้าเป็นการใช้งานทั่วไปเพื่อเก็บไฟล์งานไฟล์เอกสารที่ไม่ได้เป็นความลับอะไรมากนัก หรือในส่วนของซอฟต์แวร์เป็นซอฟต์แวร์เพื่อการทำงานเอกสารทั่วๆ ไป และโดยเฉพาะเป็นการใช้งานส่วนตัว และอาจจะมีการแชร์กับผู้อื่นบ้างแต่ก็เป็นการแชร์ระหว่าง User ด้วยกัน แชร์ไฟล์งานหรือไฟล์ภาพกับเพื่อน เป็นต้น การใช้งานลักษณะนี้ ลำพังแค่ Public Cloud ทั่วๆ ไปก็เพียงพอ แค่มองหาและรู้จักใช้งานเครื่องมือที่มีอยู่ให้ดีก็สามารถใช้และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ถ้าเป็นองค์กรโดยเฉพาะองค์กรขนาดกลางขึ้นไป มีรูปแบบการใช้งานเป็นของตัวเอง มีผู้ใช้งานร่วมกันภายในเครือข่ายจำนวนมาก และต้องการระบบที่มีความปลอดภัยคงต้องใช้งานแบบ Private Cloud แต่หากงบประมาณมีจำกัดและยังไม่จำเป็นต้องใช้ระบบที่ใหญ่มากนัก เป็นลักษณะของการเริ่มต้นนำเทคโนโลยี Cloud Computing มาปรับใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ อาจเริ่มต้นด้วย Hybrid Cloud การทำงานบางอย่างที่ไม่ได้เน้นเรื่องความปลอดภัยอาจเริ่มต้นจากการใช้ Public Cloud ก่อน ในขณะที่งานสำคัญๆ และเป็นงานที่ต้องการความปลอดภัยทั้งในเรื่องของการเข้าถึงและการรั่วไหลของข้อมูลในส่วนนี้อาจจะเริ่มต้นจาก Private Cloud ที่เป็นระบบเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยขยับขยายในภายหลัง

การย้ายโดเมนเนม

บทความโดย : กิตติ ภูวนิธิธนา
ต่อเนื่องจากการเขียนบทความเกี่ยวกับ ปัญหาการต่ออายุโดเมน ในบทความก่อนหน้านี้ หากใครคิดว่าอาจจะเจอปัญหาแบบที่ยกตัวอย่างไปคือ ผู้ให้บริการโดเมนอาจจะติดต่อไม่ได้ โดยที่ผ่านมาอาจจะติดต่อยาก หรือคิดว่ากำลังจะย้ายโดเมนไปใช้บริการกับที่อื่นอยู่พอ จะด้วยวัตถุประสงค์อื่นใดก็ตาม อาจจะเพื่อความสะดวก ต้องการย้ายโดเมนกับโฮสติ้งให้อยู่กับผู้ให้บริการรายเดียวกัน หรือคิดว่าที่ใหม่ (น่าจะ) ให้บริการได้ดีกว่า มาดูกันว่าการย้ายโดเมนมีเงื่อนไขและขั้นตออย่างไรบ้าง

เงื่อนไขในการย้ายโดเมนเนม
ก่อนอื่นมาดูเงื่อนไขในการย้ายโดมเนมกันก่อนว่า โดเมนของเราจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขอย่างไรบ้างถึงจะสามารถดำเนินการย้ายได้
– โดเมนที่จะย้ายต้องจดทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 วัน
– โดเมนที่จะย้ายจะต้องยังไม่หมดอายุหรือเลยกำหนดวันที่จะต้องต่อายุ
– โดนเมนที่จะย้ายต้องไม่มีหนี้ค้างชำระกับผู้ให้บริการรายเดิม
– โดเมนที่จะทำการย้ายแบบ Transfer Registrar ต้องย้ายก่อนที่จะถึงวันหมดอายุ 30 วัน
– เจ้าของโดเมนต้องขอ Auth Code จากผู้ให้บริการรายเดิมเพื่อนำไปใช้ยืนยันในการย้าย

การย้ายโดเมนเนมมี 2 แบบ คือ…
– Transfer Registrar
– Transfer Reseller
ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับคำว่า Registra และ Reseller กันก่อน Registra ก็คือ ผู้ ให้บริการจดโดเมนเนมที่เป็นต้นทางจริงๆ ส่วนผู้ให้บริการที่เราใ้ช้บริการให้ดำเนินการจดและชำระเงินให้เรา (ผู้ให้บริการในประเทศ) เรียกว่า Reseller เป็นตัวแทนจำหน่ายหรือผู้ให้บริการรายย่อยที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่าง เจ้าของโดเมนกับ Registra อีกทีหนึ่ง
เวลาติดต่อผู้ให้บริการราย ใหม่ ถ้าผู้ให้บริการรายใหม่ตรวจสอบแล้วพบว่าโดเมนของเราจดทะเบียนจาก Registra เจ้าเดียวกับที่ผู้ให้บริการเป็น Reseller การย้ายโดเมนจะทำได้สะดวกกว่า ที่สำคัญขอเพียงโดเมนยังไม่หมดอายุ แม้ว่าจะเหลือเวลาอีกเพียง 2-3 วันจะถึงวันครบกำหนดต่ออายุก็ยังสามารถที่จะทำเรื่องย้ายโดเมนได้ ขอเพียงอย่ามีหนี้ค้างชำระกับที่เดิม
แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่า Registra หรือผู้จดทะเบียนเดิม เป็นคนละเจ้ากับที่ผู้ให้บริการรายใหม่เป็น Reseller กรณีเช่นนี้ต้องทำเรื่องย้ายโดเมนก่อนที่จะถึงวันครบกำหนดการต่ออายุโดเมน 30 วัน