Gimbal Stabilizer จะซื้อทั้งทีต้องพิจารณาอะไรบ้าง

บทความ : กิตติ ภูวนิธิธนา

กลายเป็นของที่ต้องมีของคนที่ชอถ่ายวิดีโอไปแล้วในตอนนี้สำหรับไม้กันสั่นหรือ Gimbal Stabilizer ซึ่งตอนนี้มีให้เลือกมากมายหลากหลายรุ่นและราคาก็ถูกลงเรื่อยๆ จากราคาระดับหมื่นอัพ ในตอนนั้นราคาหมื่นกว่าบาทก็ว่าถูกแล้วกับอุปกรณ์ประเภทนี้ ตอนนี้ราคา 4-5 พันบาทก็มีให้เลือกหลายรุ่น ระดับ1-2 พันยังมีเลย

ขอบแบบนี้จะถูกจะแพงก็เรื่องหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของคุณภาพที่ต้องพิสูจน์กันจากการใช้งานและเรื่องของรูปแบบความพึงพอใจ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการใช้งาน เกี่ยวกับอุปกรณ์เหล่านี้พวก Gadget ทั้งหลายนี้เจ็บตัวกันมานักต่อนักแล้วไม่ว่าจะเป็นไม้กันสั่น Action Camera หรือว่าพวกไมค์ทั้งหลาย ซื้อผิดไม่ตอบโจทย์การทำงานกลายเป็นที่ทับกระดาษเอาง่ายๆ เสียตังค์ฟรีกันมาไม่น้อยแล้ว

ดังนั้นวันนี้ขอมาแนะนำกันสักหน่อยเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกซื้อ เนื่องจากพอมีประสบการณ์อยู่บ้าง เจ็บตัวมานิดๆ เหมือนกัน และใช้งานจริงมาสักพักหนึ่งแล้ว จึงขอเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาแชร์กัน คิดว่าคงมีประโยชน์บ้างไม่น้อยก็มาก

จะซื้อ Gimbal Stabilizer มีอะไรบ้างที่ต้องพิจารณา…

– เป็นแบบไหน 2 แกนหรือ 3 แกน ถือว่าเป็นฟังก์ชันพื้นฐานที่ต้องพิจารณา เป็นฟังก์ชันที่มีผลทั้งเรื่องของการใช้และราคา ถ้าเป็นแบบ 2 แกนราคาก็ถูกหน่อย 3 แกนทำงานได้ครบทุกองศาราคาก็จะแพงขึ้น เดี๋ยวนี้เห็นมีรุ่น X-CAM เป็นแบบ 2 แกนราคาพันกว่าบาทแค่นั้นเอง พับเก็บพกพาใส่กระเป๋ากางเกงได้เลย

เอาเข้าจริงแบบ 2 แกนก็คล่องตัวดีนะ อาศัยแค่ว่ากันสั่นได้ก็พอ ให้ถืออยู่ในมือแล้วภาพไม่สั่น ส่วนการหันหรือแพนกล้องใช้แบบแมนวลเอาก็ได้ สะดวกและได้ดังใจดีด้วย เพราะการควบคุมด้วยมอเตอร์อาจจะสมูธก็จริงแต่บางจังหวะก็ไม่ทันใจและไม่เป็นไปตามจังหวะที่เราต้องการเสียทีเดียว

– ความจุแบตเตอรี่ รองรับการถ่ายต่อเนื่องได้นานแค่ไหน และมีช่องชาร์จไฟให้เสียบชาร์จกับ Power Bank ระหว่างใช้งานได้ไหม

– จุดเชื่อมต่อ รองรับการติดตั้งอแดปเตอร์เพื่อติดตั้งอุปกรณ์เสริมหรือไม่ สามารถติดตั้งอะแดปเตอร์แบบไหนได้บ้าง ได้กี่จุด เชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมอะไรได้บ้าง หลักๆ ก็จะเป็นการเชื่อมต่อกับไมค์นอก (เรื่องไมค์มีประเด็นที่อยากแนะนำด้วย อ่านต่อหัวข้อถัดไป)

– การใช้งานกับขาตั้งกล้อง ถ้าคิดว่าอาจจะต้องมีการถ่ายที่จะต้องใช้ขาตั้งกล้องด้วย เช่นการใช้งานของผม ตอนที่พูดเปิดคลิปอาจจะตั้งกล้องก่อน พูดเปิดสักหน่อยแล้วไปหยิบกิมบอลเดินถ่ายสิ่งที่ต้องการพร้อมกับเล่าเรื่องไปด้วย ซึ่ง Gimbal บางรุ่นใต้ด้ามจับจะมีรูมาตรฐานที่สามารถยึดกับเพลทของขาตั้งกล้องได้เลย บางรุ่นต้องซื้อ Base หรือ Dock ของกิมบอลรุ่นนั้นมาใช้ ซึ่งใช้ได้เป็นแท่นสำหรับตั้งตัวกิมบอลเองและที่ใต้ Base จะมีรูไว้ให้ยึดกับเพลตของขาตั้งกล้อง (ผมใช้รุ่นนี้แหละพะรุงพะรังไปหน่อย)

– แอปพลิเคชัน ถ้าเป็นไปได้ก็ลองศึกษาก่อนซื้อ อาจจะดูตามรีวิวต่างๆ ว่าการใช้งานแอปพลิเคชั่นของกิมบอลรุ่นนั้นเป็นยังไงบ้าง ใช้ง่าย ใช้ดีไหม รองรับอะไรบ้าง รองรับกล้องเพื่อการถ่ายภาพและวีดีโอ (อันนี้เป็นฟังก์ชั่นพื้นฐาน) รองรับการไลฟ์ไหม หลักๆ ก็รองรับ Facebook Live ไหม บางรุ่นอาจรองรับการไลฟ์ผ่านโซเชียลอื่นๆ ด้วย และสามารถตัดต่อได้ด้วย ก็ลองศึกษาดู ถ้าจะให้ดีถ้าซื้อกับหน้าร้าน อาจไปลองเล่นตัวโชว์ดูก่อน

– เรื่องการใช้ไมค์ กิมบอลที่ผมเข้าใจนะส่วนใหญ่จะเห็นว่าจะโชว์ในเรื่องของการถ่ายภาพเคลื่อนไหวในสถานการณ์ต่างๆ วิ่งเดิน ลุก นั่ง โดยที่ภาพไม่สั่น โดยภาพเหล่านั้นอาจนำไปใช้เป็นฟุตเทจหรืออะไรก็ตามที่ไม่ได้เน้นบันทึกเสียง แต่ก็มีนะอย่าง DJI OSMO PLUS ที่มีกล้องในตัว มีช่องเสียบไมค์นอกมาให้ด้วย แต่ DJI OSMO MOBILE หรือรุ่นอื่นๆ อีกหลายรุ่น จะไม่ได้เน้นหรือพูดถึงเรื่องนี้

แต่การใช้งานของหลายๆ คน อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งล่ะ ต้องการถ่ายวิดีโอที่บันทึกเสียงไปด้วย ไม่ใช่แค่เอาภาพเคลื่อนไหวไปตัดต่อแล้วลงเสียงทีหลัง ลำพังใช้ไมค์ในตัวของสมาร์ทโฟนก็ได้เสียงไม่ดีนัก ถ้าเป็นการถ่ายในอาคารที่ไม่ค่อยมีเสียงรบกสนก็แล้วไป แต่ถ่ายเอาท์ดอร์นี่ลำบาก ทีนี้การต่อไมค์นอกเวลาที่ใช้สมาร์ทโฟนกับกิมบอลจะมีปัญหาสำคัญคือ ช่องเสียงไมค์ของสมาร์ทโฟนมักจะถูกปิดหรือบังด้วยแกนของกิมบอล

ดังนั้นถ้าใครจะซื้อกิมบอลแล้วคิดว่าจะต้องใช้ไมค์นอกด้วย เอาสมาร์ทโฟนที่จะใช้ถ่ายไปลองติดตั้งกับกิมบอลเลย แล้วดูว่าช่องเสียบไมค์อยู่ในจุดที่ถูกบังจากแกนของกิมบอลไหม หรือว่าเสียบไมค์ได้สะดวกไหม

นี่ก็เป็นเรื่องการเลือกซื้อกิมบอลที่นำมาแนะนำกันครับ