SaaS บริการที่ SMEs ต้องทำความรู้จักและพิจารณาเพื่อนำไปใช้

บทความโดย : กิตติ ภูวนิธิธนา

พร้อมๆ กับเทคโนโลยีของอุปกรณ์ไอทีที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดจนการพัฒนาของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ส่งผลให้การใช้หรือทำงานกับระบบปฏิบัติการกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน จากเดิมที่การใช้งานอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ้กจะต้องมีการคำนึงถึงทรัพยากรของเครื่องเป็นสำคัญเพื่อให้สามารถรองรับกับซอฟต์แวร์ที่ต้องการจะใช้งานได้

แต่ในขณะนี้แนวโน้มของการพิจารณาเลือกใช้อุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ้กกำลังเปลี่ยนไป ทรัพยากรของเครื่องไม่ใช่สาระสำคัญเสียทีเดียว สิ่งที่สำคัญและได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้คือ เรื่องของความสะดวกในการพกพา อรรถประโยชน์ในการใช้สอย และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สะดวก

แน่นอนว่าการเลือกคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ้กเพื่อทำงานกับซอฟต์แวร์บางอย่างบางโปรแกรมยังคงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงทรัพยากรที่เพียงพอ เช่น การทำงานทางด้านมัลติมีเดีย เป็นต้น แต่การใช้งานซอฟต์แวร์อีกหลายๆ ประเภทแทบจะไม่ต้องคำนึงถึงสเป็คของเครื่องที่ใช้งานมากนัก บางซอฟต์แวร์หรือการใช้งานของบางคนอาจจะไม่ต้องคำนึงถึงคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ้กเลยเสียด้วยซ้ำ เพราะสามารถใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตทำงานได้อย่างเบ็ดเสร็จ

สาเหตุที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ้กที่มีสเป็คสูงมากนั้นเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงหรือรูปแบบการใช้งานซอฟต์แวร์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่ซอฟต์แวร์จะต้องถูกติดตั้งและประมวลผลบนคอมพิวเตอร์ ไปเป็นการใช้งานซอฟต์แวร์ผ่าน Cloud Computing นั่นเอง

ถ้าจำไม่ผิดผมน่าจะเคยเขียนถึง Cloud Computing ไปบ้างแล้ว โดยการให้บริการของ Cloud Computing แบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ Infrastructure-as-a-Service (IaaS) ,
Platform-as-a-Service (PaaS) 
และ Software-as-a-Service (SaaS)

ในส่วนของ Software-as-a-Service หรือ SaaS นี้เองที่เป็นส่วนของการใช้งานซอฟต์แวร์ผ่าน Cloud โดยในขณะนี้ผู้ให้บริการต่างก็มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อนำเสนอโซลูชั่นให้กับผู้ใช้งานหรือกลุ่มธุรกิจต่างๆ ด้วย ไม่เฉพาะเพียงแค่การให้บริการโครงสร้างหรือแพลตฟอร์มเท่านั้น

ซอฟต์แวร์ที่สามารถใช้งานผ่าน Cloud Computing ไม่ใช่ซอฟต์แวร์อะไรที่ไกลตัวคนทำงานอย่างเราๆ เลย ไม่ใช่ซอฟต์แวร์สำหรับโปรแกรมเมอร์หรือวิศวกรคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด ซอฟต์แวร์ภายใต้การบริการ SaaS มีทั้ง ซอฟต์แวร์สำหรับผู้ค้าปลีก ซอฟต์แวร์ทางบัญชี ซอฟต์แวร์บริหารจัดการโรงแรม และอื่นๆ อีกหลากหลาย จะเห็นว่าล้วนเป็นซอฟต์แวร์ที่บริษัทห้างร้านหรือองค์กรต่างก็มีใช้กันทั้งสิ้น บางองค์กรต้องใช้ทุกซอฟต์แวร์ที่กล่าวมาเลยด้วยซ้ำไป

ไม่เพียงแค่ซอฟต์แวร์จะมีให้ใช้สำหรับงานหลากหลายประเภทแล้ว การใช้ซอฟต์แวร์ผ่าน Cloud Computing ยังไม่ได้จำกัดหรือได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ธุรกิจทุกขนาดไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กก็สามารถที่จะใช้งานได้

จากที่ผมมีโอกาสได้รับทราบข้อมูลจากบริษัทที่ให้บริการ Cloud Computing และมีบริการในส่วนของ SaaS ด้วย ได้ทราบว่าซอฟต์แวร์สำหรับงานต่างๆ ที่ออกแบบมานั้นรองรับการใช้งานตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกองค์กรธุรกิจได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

หากธุรกิจขนาดเล็กได้ใช้ซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพย่อมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้อย่างมั่นคง เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่เดิมก็พร้อมที่จะรองรับขอบเขตการใช้งานที่มากขึ้นได้โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องปรับตัวมากนัก ไม่ทำให้การดำเนินงานเกิดการสะดุดแต่อย่างใด

แม้แต่ร้านค้า Kios ก็สามารถที่จะติดต่อขอใช้บริการซอฟต์แวร์ SaaS ได้ เช่น ซอฟต์แวร์สำหรับผู้ค้าปลีก ที่จะช่วยให้การบริการต้นทุนและจัดการสต็อกมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในเบื้องต้นในขณะที่ธุรกิจยังมีขนาดเล็กก็เลือกใช้บริการแพ็กเกจที่เหมาะสม และขยายแพ็กเกจเพิ่มขึ้นตามขนาดธุรกิจที่เติบโตขึ้น ซึ่งซอฟต์แวร์แต่ละประเภทพร้อมรองรับการใช้งานตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการใช้งานในระดับสูง

เช่น การใช้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการโรงแรม มีแพ็กเกจให้เลือกใช้ทั้งสำหรับที่พัก โรงแรม อพาร์ทเม้นต์ขนาดเล็ก กลาง ไปจนถึงโรงแรมที่พักขนาดใหญ่ โดยในเบื้องต้นอาจจะใช้ฟีเจอร์ในส่วนของ Front เท่านั้น เมื่อโรงแรมมีขนาดใหญ่ขึ้นต้องการเพิ่มในส่วนของระบบริหารร้านค้าหรือร้านอาหารของโรมแรมด้วยก็ทำได้

ดังนั้นเพื่อประสิทธิภาพในการบริการจัดการที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs จึงควรทำความรู้จักหรือพิจารณาซอฟต์แวร์ SaaS เพื่อนำมาใช้บริการบ้าง นอกจากสามารถเลือกแพ็กเกจได้ตามความต้องการแล้ว การใช้งานซอฟต์แวร์ผ่าน Cloud Computing ยังสามารถใช้หรือทำงานผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ด้วย ทำให้การบริหารงานสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา