ปลั๊กอิน WordPress จะอัปเดตตัวไหนดูให้ดีเสียก่อน

กิตติ ภูวนิธิธนา

มีเรื่องราวเกี่ยวกับ WordPress มาอัปเดตกันประปรายเป็นเรื่องของการแนะนำวิธีการใช้งานบ้าง แนะนำปลั๊กอินที่น่าสนใจบ้าง หรือแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาบ้าง ในส่วนของการแนะนำการแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาที่ผมพบด้วยตัวเอง งมคลำจนหาทางแก้ไขได้แล้ว จึงนำมาแชร์ไว้ในที่นี้เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้อื่นบ้าง

ปัญหาการใช้ WordPress ที่พบเมื่อไม่นานมานี้และอยากจะแชร์ในครั้งนี้ก็คือ เรื่องของการอัปเดตปลั๊กอิน ใครที่ใช้ WordPress อยู่ก็คงจะเห็นว่าปลั๊กอินสำหรับ WordPress นั้นมีให้เลือกเยอะแยะมากมาย จนแทบจะเลือกกันไม่ถูก แต่ส่วนใหญ่ถ้าจะติดตั้งปลั๊กอินอะไรกันสักตัวก็จะดูที่วัตถุประสงค์ก่อนว่าต้องการใช้อะไร

แล้วค่อยเลือกว่าจะใช้ปลั๊กอินตัวไหนโดยพิจารณาจากปลั๊กอินที่มีผู้ใช้งานมาก่อนหรือมีรีวิวมีการแนะนำต่อกันมาแล้วว่า (น่าจะ) ดี และเจาะจงติดตั้งเฉพาะปลั๊กอินนั้นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงในการที่จะพบกับปลั๊กอินที่จะมาสร้างปัญหามากกว่าตอบสนองการใช้งาน

เลือกปลั๊กอินผิด ชีวิตอาจเปลี่ยนได้ …เว็บพัง!

แม้กระนั้นก็ตาม แม้ว่าจะเลือกใช้ปลั๊กอินที่คิดว่าน่าจะไม่มีปัญหาอะไรแล้วแต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะไม่พบปัญหาอะไร ดังนั้นในการยุ่งเกี่ยวกับปลั๊กอินที่ติดตั้งไปแล้ว มีอีกสิ่งหนึ่งที่พึงระวังเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้คือ การอัปเดตปลั๊กอิน

เวลาที่มีการแจ้งเตือนให้อัปเดตปลั๊กอิน โดยเฉพาะมีปลั๊กอินที่จะต้องอัปเดตพร้อมกันหลายๆ ตัว ก่อนที่จะลงมืออัปเดตปลั๊กอินให้จำไว้ด้วยว่าอัปเดตปลั๊กอินตัวไหนไปบ้าง

เมื่ออัปเดตไปแล้วให้ตรวจสอบการแสดงผลของหน้าเว็บไซต์ส่วนต่างๆ ว่ามีอะไรผิดเพี้ยนไปจากเดิมหรือไม่ เช่น ภาพประกอบในบทความไม่แสดงผล อยู่ภาพก็หายไป แสดงเป็นชื่อภาพขึ้นมาเฉยๆ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วให้ทดลองใช้งานระบบ Admin ด้วย เช่น การอัปเดตบทความใหม่ ลองดูว่าสามารถสร้างลิงก์ได้ไหม สามารถใส่ภาพได้ไหม ถ้าใส่ภาพได้แล้วตอนที่สั่ง Post หรือ Update ไปแล้ว ไปดูที่หน้าเว็บอีกทีว่าภาพแสดงผลไหม ใส่ภาพ Feature Image ได้ไหม ฯลฯ

ถ้าทุกอย่างทำงานได้ตามปกติก็แล้วไป แต่ถ้าพบว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นให้กลับไปตรวจสอบปลั๊กอินที่อัปเดตทีละตัว วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดคือ อาจจะต้องไล่ลบปลั๊กอินที่ได้อัปเดตไปออกทีละตัวจนกว่าเว็บจะกลับมาทำงานได้ตามปกติ